นิเทศทางไกลกับศึกษานิเทศก์

วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประเมินความพร้อมสู่โรงเรียนในฝัน ปฐมวัย
































ประเมินความพร้อมสู่โรงเรียนในฝัน ระดับปฐมวัย


รองฯเอกวัฒน์ ล้อสุนิรันดร์ รอง.ผอ.สพป.นครนายก


พร้อมทีมศึกษานิเทศก์ ประเมินความพร้อมของโรงเรียนบ้านโคกสว่าง


และโรงเรียนบ้านเขาส่องกล้อง ที่จะขอรับการประเมินโรงเรียนในฝัน


ในปีการศึกษา 2554 ระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคม 2554











วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
โดยใช้กิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์


* สุบิน ณ อัมพร

เอกสารนิเทศทางไกล ฉบับที่ 2/2551 นี้ จะเป็นเรื่องเทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียน
เป็นสำคัญ เป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง ขอนำเรื่อง กิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์มาเล่าสู่กันฟังในฐานะผู้เขียนเป็นศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
โครงงานวิทยาศาสตร์ มี 4 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทสำรวจรวบรวมข้อมูล 2)ประเภททดลอง 3) ประเภทสิ่งประดิษฐ์ และ 4) ประเภททฤษฎี
1. ประเภทสำรวจรวบรวมข้อมูล โครงงานประเภทนี้ไม่กำหนดตัวแปร การเก็บรวบรวบข้อมูลอาจเป็นการสำรวจในภาคสนามหรือในธรรมชาติหรือนำมาศึกษาในห้องปฏิบัติการ นอกจากนั้นการสำรวจรวบรวมข้อมูลอาจพัฒนาเป็นการทดลองต่อไปได้ ขอแนะนำช่วงชั้นที่ 1 ควรจะเป็นโครงงานประเภทสำรวจ เพื่อฝึกนักเรียนให้รู้จักการทำงานที่เป็นระบบ เป็นขั้นตอน รู้จักการบันทึก
ในสิ่งที่ได้รู้ได้เห็น เมื่อนักเรียนคุ้นเคยแล้วค่อยพัฒนาเป็นโครงงานประเภททดลองต่อไป
ตัวอย่าง “การสำรวจพืชชนิดต่าง ๆ ในบริเวณโรงเรียน” “การสำรวจพืชสมุนไพรในท้องถิ่น”
2.โครงงานประเภททดลอง เป็นโครงงานที่ต้องออกแบบการทดลอง จำเป็นที่จะต้องสอน
ให้เด็กรู้จักตัวแปรต้น ตัวแปรตาม ตัวแปรควบคุม ในเรื่องที่ทำการทดลองคืออะไร การตั้งสมมติฐาน ทดลองเพื่อหาคำตอบ รวบรวมข้อมูลนำมาสรุปเป็นองค์ความรู้ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ตัวอย่าง “การผลิตเครื่องสำอางจากกล้วย” “การทำยาฆ่าแมลงจากสารที่สกัดจากสะเดา”
3. โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ โครงงานประเภทนี้เป็นการประดิษฐ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เครื่องมือ เครื่องใช้ หรืออุปกรณ์เพื่อใช้สอยต่างๆ อาจคิดขึ้นมาใหม่หรือปรับปรุงจากของเดิมมีการกำหนดตัวแปรที่จะศึกษาและทดสอบประสิทธิภาพของชิ้นงานด้วย
ตัวอย่าง “เครื่องแยกกากผลไม้” “เครื่องดักแมลงวัน”
4.โครงงานประเภททฤษฎี เป็นโครงงานระดับสูง ซึ่งไม่เหมาะสำหรับนักเรียนระดับ
ประถมศึกษา เป็นโครงงานที่เสนอทฤษฎี หลักการหรือแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของสูตร สมการหรือคำอธิบาย ผู้ทำต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้นๆเป็นอย่างดี ตัวอย่าง “การอธิบายอวกาศแนวใหม่”
ขั้นตอนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ 1) การคิดหรือเลือกหัวข้อเรื่องที่จะทำโครงงาน
2) การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง 3) การเขียนเค้าโครงย่อของโครงงาน 4) การลงมือทำ 5) การเขียนรายงาน 6) การแสดงผลงาน

การเขียนรายงานเป็นรูปแบบหนึ่งของการเสนอผลงานนักเรียนที่ได้ศึกษาค้นคว้าและให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา การเขียนรายงานที่สมบูรณ์ควรประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
1. ชื่อโครงงาน
2. ชื่อผู้ทำโครงงาน/โรงเรียน/พ.ศ.ที่จัดทำ
3. ชื่อครูที่ปรึกษา
4. บทคัดย่อสั้นๆ (ประกอบด้วย เรื่อง/วัตถุประสงค์/วิธีการศึกษาและสรุปผล)
5. กิตติกรรมประกาศ (แสดงความขอบคุณบุคคลหรือหน่วยงานที่มีส่วนให้ความช่วยเหลือ
ให้งานสำเร็จ)
6. ที่มาและความสำคัญ
7. วัตถุประสงค์
8. สมมติฐาน (ถ้ามี)
9. ตัวแปร (ถ้ามี)
10. วิธีดำเนินการ
11. สรุปผลการศึกษา
12. เอกสารอ้างอิง
หมายเหตุ โครงงานที่ส่งเข้าประกวดต้องต้องแยกออกเป็นบทๆ ว่าแต่ละบทประกอบด้วย
หัวข้ออะไรบ้างตั้งแต่บทที่ 1-บทที่ 5 (หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้ที่ www.subingreen.blogspot.com ซึ่งผู้เขียนได้จัดทำเป็นเว๊ปไซด์ไว้สำหรับผู้ที่สนใจได้ศึกษา

........................................................................
* สุบิน ณ อัมพร ศึกษานิเทศก์ ชำนาญการพิเศษ สพท.นครนายก

เอกสารอ้างอิง

จิราภรณ์ ศิริทวี. (2542, สิงหาคม). “โครงงานทางเลือกใหม่ของการสร้างปัญญาชน,”
วารสารวิชาการ. 2(8) : 33 – 33.
พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และคณะ. การสอนคิดด้วยโครงงาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย.
สุบิน ณ อัมพร. (2549). แนวการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โครงงานวิทยาศาสตร์. เอกสารประกอบการ
อบรมเชิงปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม 2549. (อัดสำเนา).

ป้ายกำกับ:

วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

จัดการศึกษาอย่างไร...ให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544

* สุบิน ณ อัมพร
เอกสารนิเทศทางไกล ฉบับที่ 1/2551 ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้บริหารโรงเรียน

เพื่อนครู หรือผู้ที่สนใจ คงหยิบขึ้นมาอ่านบ้างถึงจะเป็นเรื่องที่รู้แล้ว......พระราชบัญญัติ
การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทย
ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรม
ในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ตลอดจนการจัดการศึกษาต้อง
ยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด
กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ
จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาหรือผู้ที่มีหน้าที่จัดการศึกษา

และครูผู้สอนต้องจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุด ดังนี้
* จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึง

ความแตกต่างระหว่างบุคคล
* ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์

ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา
* จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น
รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
* จัดการเรียนการสอนให้มีความรู้คู่คุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณ์อันพึงประสงค์

ไว้ในทุกวิชา
* ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียนและอำนวย
ความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้
* จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ ร่วมมือกับบิดา มารดา ชุมชนเพื่อพัฒนา
ผู้เรียนตามศักยภาพ
ฉะนั้น ผู้จัดการศึกษาและครูผู้สอนจะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการเป็นผู้ชี้นำ

ผู้ถ่ายทอดความรู้ไปเป็นช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้จากสื่อ
และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้เรียน โดยครูผู้สอนต้องมีบทบาทหน้าที่ใน
การจัดการเรียนการสอนดังนี้
1. เตรียมตัวครู คือ ครูต้องมีความรู้ในเนื้อหาที่เด็กจะเรียนรวมถึงแหล่งความรู้ที่จะแนะนำเด็ก
ครูต้องค้นคว้าข้อมูล รับผิดชอบสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน
2. เตรียมสื่อ อุปกรณ์ กิจกรรมให้เหมาะกับเนื้อหา สื่อต้องหลากหลาย
3. เตรียมแผนการจัดการเรียนรู้หรือกิจกรรม ซึ่งสำคัญมากเพราะครูต้องคำนึงถึงกิจกรรม

ที่จัดให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่ต้องการให้เด็กเกิดการเรียนรู้เพราะจุดประสงค์จะทำให้เกิดกิจกรรม
ที่จัดให้กับเด็ก
4. เตรียมการประเมินผล เป็นการประเมินการเรียนการสอนให้ตรงจุดประสงค์

ของการเรียนรู้ดูได้จากผลงาน ซึ่งต้องใช้เครื่องมืออย่างหลากหลายและต้องประเมินให้ครอบคลุมทั้งความรู้ จิตพิสัย
และการปฏิบัติ

เพื่อนครูยุคโลกาภิวัตน์ ครูพันธุ์ใหม่ คงรู้แล้วนะคะว่าจะจัดการเรียนการสอน

ให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 อย่างไร
ครูมืออาชีพต้องพัฒนาผู้เรียนให้ได้รับทั้งความรู้ กระบวนการและเจตคติ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนดี
คนเก่งและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
……………………………….
*ศึกษานิเทศก์ ชำนาญการพิเศษ สพท.นครนายก


เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. (2545). หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544.
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.).
กาญจนา ไชยพันธุ์. (2544, พฤษภาคม). “แนวคิดจิตวิทยาของโรเจอร์ส

กับการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง,” วารสารวิชาการ. 4(5) : 6 – 9.
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน). (2547).

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545.
กรุงเทพฯ : บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.




ป้ายกำกับ: